NDA คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ
ในโลกของการทำธุรกิจ สิ่งนึงที่ควรให้ความสำคัญมากๆเลยคือ การเก็บรักษาข้อมูลความลับของบริษัทซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ เนื่องจากว่าข้อมูลของบริษัทถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญ หากถูกนำไปเผยแพร่หรือรั่วไหลไปสู่คู่แข่งแล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง และอาจสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลได้ในอนาคต ซึ่งการดูแลข้อมูลความลับของบริษัท สามารถทำได้หลากหลายวิธี
โดยการทำ NDA (Non-disclosure Agreement) สัญญาหรือสัญญารักษาความลับ ก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถรักษาข้อมูลให้ปลอดภัยได้ โดยสัญญารักษาความลับ คือสัญญาที่จะไม่เปิดเผยข้อมูล หมายถึงสัญญาทางกฎหมายที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์จะดำเนินโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน โดยตกลงที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลที่สามอันเป็นข้อมูลที่ได้รับความคุ้มครองโดยเฉพาะตามสัญญานี้ มันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นความลับและถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องข้อมูลอันเกี่ยวเนื่องกับกรรมสิทธิ์ที่อาจมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสองฝ่าย
แล้วการร่างสัญญา NDA ต้องหัวข้ออะไรบ้าง เดี๋ยววันนี้เราไปดูกันค่ะ โดยหลักๆแล้ว ในการร่างสัญญา NDA จะมีหัวข้อ ดังนี้ค่ะ
ช่วงเวลาในการทำสัญญา
ข้อมูลของ“ผู้ให้ข้อมูล” และ “ผู้รับข้อมูล” คือ การระบุตัวตนคู่สัญญาในข้อตกลง ใครเป็นผู้เปิดเผยและใครเป็นผู้รับข้อมูล
จุดประสงค์ของการทำสัญญา
ความหมายของข้อมูลที่เป็นความลับ
ขอบเขตการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความลับ
ระยะเวลาที่มีผลบังคับใช้
เงื่อนไขอื่นๆ เช่น ข้อพิพาทจะได้รับการแก้ไขอย่างไร หลังจากระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับสามารถจ้างพนักงานของผู้เปิดเผยได้หรือไม่
โดยหากถามว่า NDA สำคัญต่อบริษัทอย่างไร?แล้วหล่ะก็วันนี้ แอดมินขออนุญาตแชร์เป็นเกร็ดความรู้ค่ะ
อย่างแรกเลยคือ ถือเป็นการสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลสำคัญของบริษัทจะไม่รั่วไหลออกจากบริษัท ยกตัวอย่างเช่นในกรณี ที่เรามีการเจรจากับ Vender ในเรื่องของการพัฒนา หรือการติดต่อซื้อขายชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบต่างๆ ในบางครั้ง การเจรจาอาจมีการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ในเรื่องของ Process การทำงาน ดังนั้นการทำสัญญา NDA ก็เป็นอีก 1 ปัจจัยที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทได้อีก 1 ทางด้วย เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีนำความลับที่สำคัญไปเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ
ทั้งนี้หากคู่สัญญากระทำผิดต่อการเก็บข้อมูลความลับนอกจากจะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่ได้กำหนดในสัญญาแล้วหากมีการกระทำเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยความลับ ก็จะมีความผิดตามกฎหมายตามมา ตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 ความผิดฐานเปิดเผยความลับ มาตรา 322-325 ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติคำนิยามคำว่าความลับทางการค้า (Trade Secret) หากข้อมูลที่เป็นความลับมีความหมายภายใต้คำนิยามนี้ ข้อมูลดังกล่าวก็จะอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยเช่นกัน
โดยสรุปแล้วการทำ NDA (Non-disclosure Agreement) เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจโดยเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลความลับให้กับผู้เกี่ยวข้องภายนอกบริษัทได้รับทราบ จึงเป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่สำคัญหรือเป็นความลับถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนหรือคู่แข่งทางการค้า ช่วยให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากสถานการณ์ความลับรั่วไหลที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้