การเลือกระบบสารสนเทศที่มีความเหมาะสมสำหรับภาคธุรกิจด้วยวิธีการ Analytic Hierarchy Process (AHP)

ตอนที่ 1

    กระบวนการตัดสินใจแบบวิเคราะห์ลำดับชั้น AHP ได้ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ.1970 โดย Thomas L Saaty ศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นแนวทางของ AHP จึงมีรูปแบบแนวคณิตศาสตร์เป็นหลัก กล่าวคือการแปลงสิ่งที่ไม่สามารถวัดค่าในเชิงปริมาณมาพิจารณาในเชิงปริมาณโดยการกำหนดมาตราส่วนในการพิจารณาเพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นไปได้แบบมีเหตุผลโดยการกำหนดเป้าหมายและสร้างโครงสร้างของปัญหาที่ต้องการพิจารณาออกมาเป็นแผนภูมิลำดับชั้น (Hierarchy) ตามลำดับชั้นของเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาจากเกณฑ์หลักสู่เกณฑ์รองตามลำดับจัดเรียงลงมาเป็นชั้น ๆ จนถึงทางเลือก (Alternative) ซึ่งทำให้ผู้พิจารณาสามารถมองเห็นองค์ประกอบของปัญหาโดยรวมและเปรียบเทียบปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลในทุกปัจจัยที่พิจารณาทำให้ผลการตัดสินใจมีความถูกต้องรัดกุมมากขึ้น

การพิจารณาองค์ประกอบในการตัดสินใจ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

1. ปัญหาหรือเป้าหมาย (Goal)

ปัญหาหรือเป้าหมายเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาและการประเมินทางเลือก ดังนั้นการวางตำแหน่งของปัญหาหรือเป้าหมายอย่างถูกต้องจะเป็นการควบคุมองค์ประกอบต่าง ๆ ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง

2. เกณฑ์หลัก (Criteria) และเกณฑ์รอง (Sub criteria)

เกณฑ์ในการตัดสินใจช่วยให้กระบวนการตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการวิเคราะห์ปัญหาที่มีความละเอียดซับซ้อน โดยผู้ตัดสินใจควรมองปัญหาในมุมกว้างและในมุมกลับให้สมดุลระหว่างเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มองผลจากการตัดสินใจในระยะยาว รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นโดยปราศจากอคติ

3. ทางเลือก (Alternative)

การพิจารณาทางเลือกเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการตัดสินใจเพราะการแก้ปัญหาที่จะให้ได้สำเร็จผลตามที่ต้องการนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีทางเลือกที่ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความสามารถในการวินิจฉัยด้วย ดังนั้นผู้ตัดสินใจต้องใช้เหตุผลใคร่ครวญและไตร่ตรองอย่างรอบคอบ รวมถึงแสวงหาทางเลือกใหม่ที่สร้างสรรค์ตลอดเวลา

4. ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการพิจารณาองค์ประกอบ

ในกระบวนการตัดสินใจนั้นผู้ตัดสินใจต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอันมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ ซึ่งวิธี AHP สามารถนำความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมาสนับสนุนการตัดสินใจได้ โดยพิจารณาจาก 3 กรณี ดังนี้

ก) กำหนดความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนให้เป็นปัจจัยหนึ่งเกณฑ์หลักหรือเกณฑ์รอง เหมาะกับสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนต่ำและมีความซับซ้อนน้อย

ข) กำหนดความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนออกมาในรูปของสถานการณ์แสดงไว้เป็นระดับชั้นของแผนภูมิ เช่น สถานการณ์ดีที่สุด สถานการณ์ที่เป็นกลาง และสถานการณ์ที่แย่ที่สุด เป็นต้น โดยอาจอยู่ระหว่างปัญหาและเกณฑ์หลัก หรืออยู่ระหว่างเกณฑ์หลักและเกณฑ์รอง

ค) การสร้างแผนภูมิใหม่ขึ้นสำหรับพิจารณาความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนโดยเฉพาะ กรณีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินใจที่มีความซับซ้อนซึ่งเป็นการยากที่จะนำความเสี่ยงเข้ามาพิจารณาร่วมกับเกณฑ์หรือปัจจัยอื่น



ภาพที่ 1 ลักษณะโครงสร้างเชิงลำดับชั้นอย่างง่าย

โดยตอนที่ 2 พบกับวิธีคำนวณตามแนวทาง AHP ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญ ซึ่ง Cybernetics+ มีระบบสารสนเทศที่มีความเหมาะสมสำหรับภาคธุรกิจ ได้แก่ ระบบ MRP / ERP เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นพาร์ทเนอร์อย่างเป็นทางการของ Odoo (Global Class ERP) ประจำประเทศไทย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นความต้องการเชิงธุรกิจในด้านใด เพื่อให้ธุรกิจของคุณพัฒนาอย่างยั่งยืน เรามีโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์คุณได้อย่างแน่นอน

เอกสารอ้างอิง :

ภัชรี นิ่มศรีกุล และ อภิชาต โสภาแดง. (2552). การประยุกต์การตัดสินใจแบบหลายหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกศูนย์กลางโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าในประเทศไทย. การประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานครั้งที่ 8, เพชรบุรี.

สุเมศวร จันทะ. (2549). การประยุกต์ใช้กระบวนการ AHP และ Goal Programming เพื่อพยากรณ์การสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในงานอุตสาหกรรม และการเลือกผู้จัดหาสินค้าที่เหมาะสม. วิทยานิพนธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.


การเลือกระบบสารสนเทศที่มีความเหมาะสมสำหรับภาคธุรกิจด้วยวิธีการ Analytic Hierarchy Process (AHP)
Rattanasak Wannakul June 25, 2022
Share this post
Tag
bUSINESS CONSULT
PLM

Our blogs
Archive
Sign in to leave a comment

ประเทศไทยเผชิญ 3 กับดัก
(Thailand with Triple Trap)