ในทุกวันนี้ข้อมูลของภาครัฐมีข้อมูลมากมาย แต่ปัญหาที่พบก็คือข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีการจัดระเบียบ กระจัดกระจาย ค้นหายาก เข้าใจยาก ข้อมูลไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน ไม่มีการเก็บรักษาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล หรือวิธีการที่ขอใช้ข้อมูลซับซ้อนและใช้เวลานานจนเกินไป และไม่มีการกำหนดนิยามของข้อมูลที่ชัดเจน
สิ่งแรกที่เราจะแก้ไขได้ก็คือ การกำหนดนิยามของข้อมูลที่ชัดเจน เพราะบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าข้อมูลของภาครัฐคืออะไร
ข้อมูล คืออะไร สิ่งที่สื่อความหมายในทุกรูปแบบให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริงหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งข้อมูลของภาครัฐก็เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ถือว่าสำคัญมาก เพราะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้ เช่น การใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ การตัดสินใจเชิงนโนบาย และการบริหารงานราชการแผ่นดิน การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารประชาชน เป็นต้น โดยข้อมูลนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ข้อมูลที่มีโครงสร้าง ( Structured Data ) คือ ข้อมูลที่มีการนิยามโครงสร้างไว้ให้ค้นหาง่าย เช่น ฐานข้อมูล
2. ข้อมูลกึ่งโครงสร้าง ( Semi - Structured Data ) คือ ข้อมูลที่มการนิยามโครงสร้างแบบลำดับขั้น เช่น Extensible Markup Language หรือ JavaScript Object Notation
3. ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง ( Unstructured Data ) คือ ข้อมูลที่ไม่ได้มีการนิยามโครงสร้างข้อมูลไว้ เช่น กระดาษ ข้อความ รูปภาพ เสียง
เมื่อเรากำหนดนิยามของข้อมูลแล้ว อีกวิธีในการแก้ปัญหาภาครัฐที่สำคัญก็คือ การทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ โดยธรรมภิบาลภาครัฐ คือ การกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐทุกขั้นตอน เพื่อให้การได้ข้อมูลหรือนำข้อมูลของหน่วยงานของรัฐไปใช้ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นปัจจุบัน พร้อมรักษาความเป็นส่วนบุคคล สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนและบูรณาการระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย ด้วยเหตุนี้เองธรรมาภิบาลข้อมูลของภาครัฐจึงได้ถูกกำหนดในพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 มาตรา 8 ประกอบด้วย
1. การกำหนดสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ
2. การมีระบบบริหารและกระบวนการจัดการและคุ้มครองข้อมูลที่ครบถ้วน
3. การมีมาตรการในการควบคุมและพัฒนาคุณภาพข้อมูลพร้อมการวัดผลการบริหารจัดการข้อมูล
4. การกำหนดนโยบายหรือกฎเกณฑ์การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ชัดเจน
5. การจัดทำคำอธิบายชุดข้อมูลดิจิทัลของภาครัฐ
นอกจากนี้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐยังเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทาง ควบคุม และตรวจสอบกระบวนการบริหารและจัดการข้อมูลหรือที่เรียกว่า วงจรชีวิตของข้อมูล
วงจรชีวิตของข้อมูล ( Data Lift Cycle ) ประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอน
1. การสร้างข้อมูล ( Create ) จะเป็นการสร้างข้อมูลด้วยการบันทึกจากบุคคล หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการซื้อข้อมูลหรือการรับข้อมูลมาจากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
2. กระบวนการจัดเก็บข้อมูล ( Store ) จะเป็นการจัดระเบียบข้อมูลที่ได้มาให้ง่ายต่อการใช้งาน ไม่สูญหาย หรือถูกทำลายด้วยวิธีการจัดเก็บลงแฟ้มข้อมูล หรือจัดการฐานข้อมูล
3. กระบวนการใช้ข้อมูล ( Use ) การนำข้อมูลที่จัดเก็บมาประมวลผล ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายโอนข้อมูล การเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล หรือการจัดทำรายงานเพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นถูกใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์รวมถึงการสำรองข้อมูลด้วยการคัดลอกข้อมูลที่ใช้งานในปัจจุบันมาเก็บไว้เพื่อป้องกันการสูญหาย
4. กระบวนการเผยแพร่ข้อมูล ( Publish ) การเผยแพร่ข้อมูล การควบคุมการเข้าถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน พร้อมกำหนดเงื่อนไขในการนำข้อมูลไปใช้ด้วย
5. กระบวนการจัดเก็บข้อมูลถาวร ( Archive ) การคัดลอกข้อมูลที่มีช่วงอายุเกินช่วงใช้งานหรือไม่ได้ใช้งานแล้ว มาทำสำเนาเผื่อไว้ใช้ในอนาคต
6. กระบวนการทำลายข้อมูล ( Destroy ) การทำลายข้อมูลที่จัดเก็บถาวรเป็นเวลานานหรือเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
คงจะพอเข้าใจแล้วใช่ไหมว่าทำไม? จะต้องทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ก็เพราะว่าธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐคือกลไกลสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดการบริหารจัดการข้อมูลรวมถึงช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาได้ในทุกมิติ และไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม รู้แบบนี้แล้วมาเริ่มก้าวแรกในการเริ่มทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐไปพร้อมๆ กัน..............
อ้างอิง : TDGA